Friday, June 29, 2007

สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร.2


พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงมีพระนามเดิมว่า ฉิม พระราชสมภพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2310 ณ ตำบลอัมพวา เมืองสมุทรสาคร ในขณะนั้นพระราชบิดายังดำรงพระยศหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี ต่อมาพระราชบิดาได้เข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าตากสิน แห่งกรุงธนบุรี จึงได้ย้ายครอบครัวมาอยู่บริเวณด้านใต้ของวัดระฆังโฆษิตาราม บ้านเดิมที่อัมพวาจึงว่างลง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขึ้นครองราชย์แล้วนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินบริเวณบ้านเดิมนั้น สร้างเป็นวัดชื่อ วัดอัมพวันเจติยารามเมื่อพระบิดาย้ายเข้ามารับราชการ ทรงได้เข้ารับการศึกษาจากวัดระฆังโฆษิตาราม โดยฝากตัวเป็นศิษย์กับพระวันรัต (ทองอยู่) เมื่อครั้งพระชนมายุได้ 8 พรรษา ได้โดยเสด็จพระราชบิดาไปราชการสงครามด้วย เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระราชบิดาได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระนามว่า พระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้รับการสถาปนาพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร เมื่อพระชนมายุครบ 22 พรรษา ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และเสด็จไปจำพรรษาที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ทรงจำพรรษาอยู่นาน 3 เดือน จึงลาผนวชต่อมาทรงได้รับสถาปนาเลื่อนพระยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อปี พ.ศ. 2349 หลังจากนั้นอีกเพียง 2 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 42 พรรษา จึงได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดีศรีสุนทรบรมมหาจักรพรรดิ ราชาธิบดินทร์ ธรณิณทราธิราช วัฒนากาศวราชวงศ์ สมุทัยโรมนต์ สากลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราบดินทร์หริหรินทราธาดาธิบดีสรีสุวิบูลย์คุณอกนิฐฤทธิราเมศวรหันต์ บรมธรามิกราชาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธิรัตนมกุฏ ประเทศคตามหาพุทธยางกูรบรมบพิตร หรือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระอัครมเหสีพระนามว่า สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี พระนามเดิมว่า บุญรอด พระธิดาในพระเจ้าพี่นางเธอ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรี-สุดารักษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชโอรสและพระธิดารวม 73 พระองค์ โดยประสูติในพระมเหสี 3 พระองค์ และประสูติในเจ้าจอมมารดาเรียม พระสนมเอก 3 พระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงครองราชสมบัติอยู่นาน 15 ปี ก็ทรงพระประชวรด้วยพิษไข้ มิได้รู้สึกพระองค์ จึงไม่ได้พระราชทานราชสมบัติให้แก่ผู้ใด ทรงพระประชวรด้วยพิษไข้อยู่นาน 3 วัน ก็เสด็จสวรรคต

พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(ร.2)
การทำนุบำรุงประเทศระยะแรกของการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พม่ายังคงรุกรานประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเมืองและป้อมปราการต่างๆขึ้นเพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านคอยป้องกันข้าศึกที่จะยกมาทางทะเลที่เมืองสมุทรปราการ และที่เมืองปากลัด โดยทรงมีพระบัญชาให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เป็นแม่กองสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ขึ้นที่ปากลัด (ปัจจุบัน คือ อ.พระประแดง สมุทรปราการ) พร้อมป้อมปิศาจผีสิง ป้องราหูและป้อมศัตรูพินาศ แล้วโปรดเกล้าฯให้อพยพครอบครัวชาวมอญจากปทุมธานีมาที่นครเขื่อนขันธ์ นอกจากนี้ยังให้กรมหมื่นมหาเจษฎาบดินทร์เป็นแม่กองจัดสร้างป้อมผีเสื้อสมุทร ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ ป้อมกายสิทธิ์ ขึ้นที่เมืองสมุทรปราการ และโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์ไปคุมงานสร้างป้อมเพชรหึงส์เพิ่มเติม ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ การสร้างป้อมปราการและเมืองต่างๆขึ้นมากมาย ด้วยการที่จะป้องกันไม่ให้ข้าศึกเข้าโจมตีพระนครได้โดยง่าย ถือว่าทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลด้านการป้องกันประเทศในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พม่าได้ยกทัพเข้ามาตีไทยหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่เมื่อพระองค์เสวยราชย์ได้ 2 เดือน ในขณะนั้นพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าได้แต่งตั้งแม่ทัพพม่า 2 นาย คือ แม่ทัพเรืออะเติ้งหงุ่นยกทัพเรือเข้ามาตีไทยทางหัวเมืองชายทะเลทางตะวันตก และสามารถตีได้เมืองตะกั่วทุ่งและตะกั่วป่า และได้ล้อมเมืองถลางไว้ก่อนที่ทัพไทยจะยกลงไปช่วย และในที่สุดก็สามารถตีทัพพม่าแตกพ่ายไปส่วนทางด้านทัพบก พระเจ้าปดุงได้แต่งตั้งแม่ทัพสุเรียงสาระกะยอ ยกกำลังมาทางบก เพื่อเข้าตีหัวเมืองทางด้านทิศใต้ของไทย และสามารถตีได้เมืองมะลิวัน ระนองและกระบี่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ส่งกองทัพลงไป และปะทะกับกองทัพพม่า ซึ่งทัพพม่าแตกถอยหนีกลับไปต่อมา พ.ศ. 2363 พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าเสด็จสวรรคต พระเจ้าจักกายแมงได้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าปดุง ก็คิดจะยกทัพมาตีไทยอีก โดยสมคบคิดกับพระยาไทรบุรีซึ่งเปลี่ยนใจไปเขากับฝ่ายพม่า แต่เมื่อทราบว่าไทยจัดกำลังไปรับข้าศึกอย่างแข็งขันตามช่องทางที่พม่าจะยกเข้ามา พม่าเกิดกลัวว่าจะรบแพ้ จึงยุติทัพ จนอีก 3 ปีต่อมา พระเจ้าจักกายแมงได้ไปชักชวยพระเจ้าเวียด-นามมินมาง กษัตริย์ญวนให้มาช่วยตีไทย แต่ฝ่ายญวนไม่ร่วมด้วย พอดีกับพม่าติดสงครามกับอังกฤษจึงหมดโอกาสยกมาตีไทยอีกด้านการบำรุงศาสนาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย โดยเฉพาะด้านการก่อสร้างศาสนสถาน ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างวัดขึ้นใหม่หลายวัด ได้แก่ วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดชัยพฤกษ์มาลา วัดโมฬีโลก วัดหงสาราม และวัดพระพุทธบาทที่สระบุรี ที่สร้างค้างได้ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รวมทั้งโปรดเกล้าฯให้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชวราราม โดยสร้างพระอุโบสถ พระปรางค์ รวมทั้งพระวิหารขึ้นใหม่ เพื่อเป็นพระอารามประจำรัชกาลความสัมพันธ์กับต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงดำเนินการนโยบายกับต่างประเทศแบบผ่อนสั้นผ่อนยาว เป็นมิตรไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ทำให้ในรัชสมัยของพระองค์ปราศจากสงคราม ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้อย่างสุขสงบ และในรัชสมัยนี้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศ ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยในสมัยนั้นมีความมั่นคงและเจริญขึ้นเป็นอย่างดีในปี พ.ศ.2352 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต พระเจ้าเยียลอง พระเจ้าแผ่นดินญวน ได้ส่งทูตเข้ามาถวายบังคมพระบรมศพ พร้อมกับมีพระราชสาสน์มาขอเมืองพุทไธมาศคืน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเห็นว่าไทยมิได้ส่งทหารไปดูแลเลย จึงตกลงคืนให้ ทำให้สัมพันธภาพกับญวนเป็นไปได้ด้วยดีสมเด็จพระอุทัยราชาเจ้าเขมร ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงให้การอุปถัมภ์นั้น เกิดผูกใจเจ็บกับไทยตั้งแต่เรื่องถูกติเตียนเรื่องที่อุกอาจเข้าเฝ้าโดยพลการ จึงมีความคิดที่จะกระด้างกระเดื่องต่อประเทศไทย โดยเริ่มจากไม่เข้าพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วยตนเอง และเมื่อคราวกรุงเทพฯมีศึกกับพม่าก็ไม่ยอมยกทัพมาช่วยเหลือ และสมเด็จพระอุทัยราชาก็หันไปพึ่งอำนาจจากญวนแทน โดยแม้จะยังส่งเครื่องราชบรรณาการมายังไทย แต่อำนาจของไทยในเขมรก็เสื่อมถอยลงตามลำดับเจ้าอนุวงศ์ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แสดงความจงรักภักดีต่อไทยตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยดี โดยช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลหัวเมืองของไทยในแถบนั้นจนสิ้นรัชกาลที่ 2เพื่อให้การติดต่อค้าขายกับประเทศจีนเป็นไปได้โดยสะดวก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงแต่งตั้งทูตอัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการ ไปเจริยพระราช-ไมตรีกับพระเจ้าเจี่ยเข่ง พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์เช็ง ณ กรุงปักกิ่ง ต่อมาพระเจ้าเจี่ยเข่งสิ้นพระชนม์ ก็ทรงโปรดเกล้าฯให้ส่งทูตไทยไปเคารพพระบรมศพ และเจริญพระราชไมตรี ต่อพระเจ้าตากวาง ผู้ซึ่งได้สืบราชสมบัติแทน โปรตุเกสกับไทยได้เคยมีการติดต่อค้าขายกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเมื่อบ้านเมืองเกิดสงครามกับพม่า โปรตุเกสก็พากันย้ายออกไปค้าขายที่เมืองอื่นๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2363 พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสได้ส่งทูตเข้ามาขอทำสัญญาพระราชไมตรี เพื่อความสะดวกในการติดต่อค้าขายด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านศิลปะหลายสาขา ทั้งทางด้านประติมากรรม ได้ทรงร่วมกับช่างประติมากรรมฝีมือเยี่ยมในสมัยนั้นแกะสลักบานประตูไม้วิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นลายเครือเถารูปป่าหิมพานต์ นับเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยม เนื่องด้วยภาพที่ทรงแกะสลักนั้น ทั้งสัตว์ต่างๆ เช่น เสือ หมี ช้าง นกและพืชพรรณไม้ดูเหมือนจะสามารถเคลื่อนไหวได้จริงๆ ได้ทรงแกะสลักศีรษะหุ่นด้วยไม้สัก 1 คู่ เรียกว่า พระยารักน้อยและพระยารักใหญ่ ในปัจจุบันงานศิลปะ 2 ชิ้นนี้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้ ได้ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์พระประธานวัดอรุณราชวรารามด้วยพระองค์เองอีกด้วย ด้านดนตรี ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ด้านดนตรีทั้งในการสร้างเครื่องดนตรีและในการเล่น พระองค์ทรงเชี่ยวชาญในการสีซอสามสาย ได้พระราชทานนามซอคู่พระหัตถ์ว่า ซอสายฟ้าฟาด และได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลง บุหลันลอยเลื่อน หรือเรียกว่า เพลงพระสุบินนิมิต ซึ่งเป็นที่ไพเราะและได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน ด้านวรรณคดี อาจกล่าวได้ว่า ยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นยุคทองของวรรณคดีไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ละครรำรุ่งเรืองถึงขีดสุด ด้วยพระองค์ทรงเป็นกวีเอก ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีไว้หลายเล่ม เป็นต้นว่า รามเกียรติ์ ตอน ลักสีดา จนถึงวานรถวายพล ตอนพิเภกสวามิภักดิ์ ตอนนางสีดาลุยไฟ ได้ทรงปรับปรุงจากบทความเดิมให้มีความไพเราะเหมาะกับการแสดงโขน และได้ทรงพระราชนิพนธ์บทพากย์โขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางลอย ตอนศึกอินทรชิตหักคอช้างเอราวัณ เป็นต้น บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน พลายแก้วพบนางพิม ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างส่วนพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนานั้น ทรงได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ ด้วยเป็นเนื้อเรื่องที่ดีทั้งเนื้อความและทำนองกลอนส่วนบทละครนอก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาด้วยกัน 5 เรื่อง ได้แก่ 1. ไชยเชษฐ์ 2. สังข์ทอง 3. มณีพิชัย 4. ไกรทอง 5. คาวีนอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเห่เรือ เรื่อง กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน ซึ่งมีความไพเราะและแปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบกวีท่านใด เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็น 5 ตอน คือ เห่ชมเครื่องคาว เห่ชมผลไม้ เห่ชมเครื่องหวาน เห่ครวญเข้ากับนักขัตฤกษ์ และบทเจ้าเซ็น บทเห่นี้เข้าใจกันว่าเป็นการชมฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี ในเรื่องการทำอาหารองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้ยกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องด้วยทรงสร้างสรรค์วรรณคดีที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมไว้เป็นมรดกของชาติไว้เป็นจำนวนมาก และรวมถึงทรงปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรได้อยู่เย็นเป็นสุขอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารและเนื่องด้วยในรัชกาลนี้มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีถึง 3 เชือก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงมีพระราชดำริให้แก้ไขธงชาติไทยจากที่เคยใช้ธงแดงมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้ทำเป็นรูปช้างเผือกอยู่ในวงจักรติดในธงพื้นแดง ซึ่งใช้เป็นธงชาติไทยสืบต่อกันมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6

No comments: