Friday, June 29, 2007

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ร.1


พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระนามเดิมว่า ด้วง หรือ ทองด้วง ประสูติ ณ กรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2279 เป็นบุตรของพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการอาลักษณ์ กับท่านหยก ธิดาเศรษฐี เมื่อพระชนมายุได้ 12 ปี ได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ครั้นเมื่ออุปสมบทแล้วจึงได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวง ครั้นมีชันษาได้ 25 ปี ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าได้ 1 ปี ท่านได้เข้ารับราชการในกรุงธนบุรี ในตำแหน่งพระราชวรินทร์ ในกรมตำหลวงหลวง ได้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการกู้บ้านเมืองหลายครั้งหลายคราว ตั้งแต่พระชน-มายุได้ 32 พรรษา จนถึง 47 พรรษา ครั้นต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนยศและบรรดาศักดิ์จากพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นเป็น พระยายมราชและพระยาจักรี ตามลำดับ กระทั่งในที่สุดได้รับการเลื่อนยศและบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เพราะเหตุที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ประชาชนจึงขนานพระนามว่า สมเด็จเจ้าพระยาครั้นปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เกิดการจลาจลขึ้นในกรุง กล่าวคือ กรรมบันดาลให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระอัธยาศัยผิดปกติไป สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ทั้งภิกษุและฆราวาส พระยาสวรรค์กับพวกจึงคิดกบฏ ควบคุมองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปขังไว้ จึงเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายกบฏกับฝ่ายต่อต้านกบฏ ขณะนั้นเจ้าพระมหากษัตริย์ศึกไปราชการทัพอยู่ประเทศกัมพูชา ทราบข่าวการจลาจลจึงยกทัพกลับมา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 ราษฎรต่างพากันยินดี ออกไปต้อนรับ เมื่อถึงพระราชวัง ข้าราชการต่างพากันอ่อนน้อมแล้วอัญเชิญปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินธร มหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2325 เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระอัครมเหสี พระนามว่า สมเด็จพระอม-รินทรา พระบรมราชินี พระนามเดิมว่า นาค ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 42 พระองค์ ประสูติในพระอัครมเหสี 9 พระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัตินาน 28 ปีเศษ ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 รวมพระชนมายุได้ 74 พรรษา

พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(ร.1)
การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายหลายประการในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการป้องกันประเทศ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม สถาปนาราชธานีใหม่ สร้างพระบรมมหาราชวัง เป็นต้นประการแรก ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างราชธานาใหม่แทนกรุงธนบุรี โดยย้ายมาอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ ทรงใช้เหตุผลทางยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ เพราะทางฟากตะวันออกนั้น แผ่นดินมีลักษณะเป็นหัวแหลม อีกทั้งยังมีแม่น้ำเป็นคูเมือง ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นชัยภูมิรับข้าศึกได้ดี และไกลออกไปทางทิศตะวันออกก็เป็นที่ราบลุ่ม ดินอ่อนเป็นโคลนเลน เป็นด่านป้องกันข้าศึกได้อย่างดี ทำให้ข้าศึกยกทับมาถึงชานพระนครได้ยาก การสร้างเมืองใช้เวลา 3 ปี มีกำแพงเมืองและป้อมปราการมั่นคง อีกทั้งโปรดเกล้าฯให้ขุดคูเมืองทางทิศตะวันออก ที่เรียกว่า คลองบางลำพูหรือคลองโอ่งอ่างในปัจจุบัน พระองค์พยายามจัดผังเมืองให้คล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยาเท่าที่จะทำได้ สร้างวัดเป็นหลักของพระนคร คือ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดพระเชตุพน ทรงพระราชทานนามราชธานีใหม่นี้ว่า กรุงเทพมหานครอมรรัตน-โกสินทร์ ทรงสร้างพระมหาปราสาทราชมณเฑียรสถานขึ้นมาในขั้นแรก ได้แก่ 1. พระราชมณเฑียรชั่วคราว เป็นที่ประทับชั่วคราว สร้างขึ้นด้วยไม้ เมื่อก่อสร้างพระมหามณเฑียรสถานเพื่อประทับเป็นการถาวรเสร็จ จึงได้รื้อออก 2. พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท จำลองแบบมาจากพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ในกรุงศรีอยุธยา ภายหลังถูกสายฟ้าฟาด เกิดไฟไหม้เสียหายหลังจากใช้งานเพียง 5 ปี 3. พระมหามณเฑียร มีพระที่นั่งประกอบกันถึง 7 องค์ คือ พระที่นั่งจักรพรรดิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอัมรินวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน(ใช้เป็นท้องพระโรงมาถึงปัจจุบัน) พระปรัศว์ขวาและพระปรัศว์ซ้าย หอพระสุราลัยมาน หอพระธาตุมณเฑียร และพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ 4. พระมหาปราสาท หมายถึง หมู่พระที่นั่ง ประกอบด้วย พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งพิมานรัถยา และพระปรัศว์ 5. พระที่นั่งพลับพลาสูง ปัจจุบัน คือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท 6. พระที่นั่งทอง เป็นพระที่นั่งขนาดย่อม สร้างขึ้นในสวนวนขวา สำหรับประพาสในพระบรมมหาราชวังด้านการป้องกันประเทศในรัชกาลของพระองค์มีการทำสงครามกับพม่าถึง 7 ครั้ง โดยไทยยกทัพไปตีเมืองของพม่าบ้าง เพื่อแสดงว่าไทยมีการฟื้นตัวและเข้มแข็งเพียงพอแล้ว การสงครามที่แสดงพระอัจฉริยภาพอย่างมากคือ สงคราม 9 ทัพ เมื่อ พ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุงได้ปราบปรามหัวเมืองมอญและไทยใหญ่ได้ และหวังจะเพิ่มพูนพระเกียรติด้วยการปราบปรามประเทศไทย จึงนำทัพเข้าตีประเทศไทย แบ่งเป็น 9 ทัพใหญ่ มาพร้อมกันถึง 5 เส้นทาง ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทางด้านทิศเหนือพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางเมืองลำปางและหัวเมืองทางแม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำยม และอีกด้านเข้าตีหัวเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำปิง เริ่มตั้งแต่เมืองตาก เมืองกำแพงเพชรลงมา ทัพหลวงซึ่งใหญ่ที่สุดเข้ามาทางด่างเจดีย์ 3 องค์ ซึ่งเข้าตีพระนคร ทางด้านทิศใต้เข้ามาทางด่านบ้องตี้ ตีเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เพื่อไปสมทบกับทัพเรือที่เข้ามาทางด่านเมืองมะริดพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีกำลังทหารเพียงครึ่งหนึ่งของพม่า ได้ทรงใช้ยุทธวิธีใหม่ในการสงครามนี้ โดยทรงยกทัพไปตั้งรับพม่าที่เมืองกาญจนบุรี ส่วนอีกทัพทรงให้ไปตั้งรับที่เมืองนครสวรรค์และเมืองราชบุรี อีกด้านหนึ่งทรงส่งพระอนุชาธิราช กรมพระราชวัง-บวรสถานมงคล เสด็จไปตั้งค่ายที่ทุ่งลาดหญ้าเชิงเขาบรรทัด คอยสกัดทัพพม่าไม่ให้ลงจากเขาได้ กองทัพพม่าจึงต้องหยุดทัพไว้ที่เชิงเขา ทำให้ต้องรับเสบียงอาหารจากแนวหลังแต่เพียงทางเดียว ทางกองทัพจึงจัดหน่วยกองโจรเข้าปล้นเอาเสบียง กองทัพพม่าขัดสนเสบียง เมื่อเข้าพุ่งรบกันพม่าจึงแพ้อย่างง่ายดาย เมื่อได้รับชัยชนะแล้ว พระอนุชาธิราชจึงรีบยกทัพไปช่วยทัพด้านอื่น และได้รับชัยชนะทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้ในปีต่อมา พม่าก็ยกทัพมาตีไทยอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า สงครามท่าดินแดงและสามสบ พม่าได้นำทัพผ่านมาทางด่านเจดีย์ 3 องค์ มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดง และสามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีค่ายที่ท่าดินแดงพร้อมกับทัพกรมพระราชวังบวรฯ ตีค่ายพม่าที่สามสบ รบกันอยู่ 3 วัน ค่ายพม่าก็แตกทุกค่าย กองทัพไทยไล่ตามติดๆไปชนะค่ายพระมหาอุปราชาที่ลำแม่น้ำกษัตริย์อีกค่ายหนึ่ง และในรัชกาลนี้ได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลพม่าออกจากล้านนา หัวเมืองเหนือและราชอาณาเขตได้โดยเด็ดขาด ทำให้อาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในประวัติศาสตร์การชำระประมวลกฎหมายเหตุที่เสียกรุงศรีอยุธยาอย่างไม่เป็นชิ้นดี พระราชกำหนดกฎหมายต่างๆจึงกระจัดกระจาย ไม่สามารถยึดถือเป็นหลักยุติธรรมของบ้านเมืองได้ ดังนั้นเมื่อ พ.ศ. 2347 จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาชำระกฎหมายที่มีอยู่ให้ถูกต้องและบริบูรณ์ กฎหมายที่ทรงชำระนั้นได้ใช้มาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงยุติการใช้กฎหมายของรัชกาลที่ 1 ลง ซึ่งได้ใช้ยึดถือมาเป็นเวลา 131 ปีกฎหมายที่ชำระขึ้นใหม่นี้เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง มีการบัญญัติว่าต้องมีตราราชสีห์ (ประจำตำแหน่งสมุหนายก) พระคชสีห์ (ประจำตำแหน่งสมุหพระกลาโหม) และบัวแก้ว (ประจำตำแหน่งพระโกศาธิบดี) ชำระเสร็จในเวลา 11 เดือน ด้านการปกครองทรงแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นในและชั้นนอก ส่วนตำแหน่งที่รองจากพระมหากษัตริย์คือ ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และในส่วนข้าราชการนั้นมีอัครเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ พระสมุหกลาโหม มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ และข้าราชการฝ่ายพลเรือน คือ สมุหนายก มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วไปในพระนครส่วนตำแหน่งรองลงมาอีก 4 ตำแหน่ง เรียกว่า เสนาบดีจตุสดมภ์ ประกอบด้วยเสนาบดีกรมเมืองหรือกรมเวียง มีหน้าที่บังคับบัญชารักษาความปลอดภัยให้แก่ราษฎรทั่วไปทั่วทั้งราชอาณาจักรเสนาบดีกรมวัง มีหน้าที่บังคับบัญชาการในพระบรมมหาราชวัง และพิจารณาความคดีแพ่งเสนาบดีกรมพระคลัง มีหน้าที่ในการรับ จ่าย และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากการเก็บส่วยอากร รวมถึงบังคับบัญชากรมท่า และการค้าขายที่เกี่ยวกับชาวต่างประเทศ และกรมพระคลังต่างๆ เช่น กรมพระคลังสินค้า เสนาบดีกรมนา มีหน้าที่บังคับบัญชาเกี่ยวกับกิจการนาไร่ทั้งหมดด้านการบำรุงพระศาสนาได้ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาเป็นอย่างมากและเกิดผลต่อมายังปัจจุบันนี้ รวบรวมได้ 3 ลักษณะ กล่าวคือ ประการที่ 1 ทรงชำระและสถาปนาพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ ให้ดำรงสมณศักดิ์รับผิดชอบศาสนจักรให้รุ่งเรืองต่อไป และได้ทรงตราพระราชกำหนดกฎหมายกวดขันการประพฤติของพระสงฆ์อย่างเคร่งครัด ประการที่ 2 ทรงชำระประไตรปิฎกให้ถูกต้องบริบูรณ์ เป็นหลักในการศึกษาค้นคว้า ประการที 3 มีพระราชศรัทธาก่อสร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามน้อยใหญ่ได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดสุทัศน์เทพวรารามการทำนุบำรุงพระศาสนาที่สำคัญที่สุดคือ การทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกด้วยทุนรอนที่โปรดเกล้าฯให้จ่ายจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่ต่อมาปรากฏว่าพระไตรปิฎกที่ชำระจากพระคัมภีร์ไม่ถูกต้อง มีความผิดเพี้ยนอยู่มาก จึงโปรกเกล้าฯให้มีการชำระใหม่ในปีวอก พ.ศ. 2331 อันเป็นปีที่ 6 ในรัชกาลส่วนทางด้านศาสนสถานนั้น ทรงสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขึ้นเป็นพระอารามหลวง พร้อมกับสถาปนาพระบรมมหาราชวัง ในปี พ.ศ. 2525 เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นฟื้นฟูแล้ว เมื่อสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเสร็จทรงโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญ พระพุทธมหามณีรัตนศาสดาราม หรือพระแก้วมรกต มาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตน-ศาสดารามพ.ศ. 2107 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีอำนาจขึ้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเห็นว่า ตั้งอยู่ที่เมืองหลวงพระบางจะสู้ศึกพม่ามอญไม่ได้ จึงย้ายราชธานีไปที่เมืองเวียงจันทน์ พร้อมกับอัญเขิญพระแก้วมรกตขึ้นมาด้วย และทรงประดิษฐานอยู่ที่นั้นเป็นเวลาถึง 214 ปี จนเมื่อไทยทำสงครามกับกรุงศรีสัตนาคนหุต พระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีเมืองเวียงจันทน์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ยังกรุงธนบุรีครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชย์ ทรงสร้างกรุงรัตน-โกสินทร์ เมื่อพ.ศ. 2525 โปรดให้สร้างพระอารามขึ้นมาในพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในพระอุโบสถการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมด้านวรรณกรรมการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ส่วนใหญ่เป็นการฟื้นฟูด้านอักษรศาสตร์เป็นสำคัญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นผู้พระราชนิพนธ์เองบ้าง กวีและผู้รู้เขียนขึ้นบ้าง ด้วยทรงสนพระทัยในด้านวรรณศิลป์เป็นอย่างมาก ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมที่ทรงคุณค่าไว้จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีรามเกียรติ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ รู้จักกันในชื่อว่า รามเกียรติ์ รัชกาลที่ 1 โดยสำนวนโวหารในพระองค์ท่านจะเป็นสำนวนแบบทหาร ถ้อยคำที่ใช้ตรงไปตรงมาด้านสถาปัตยกรรมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ฟื้นฟูงานช่างขึ้นมาใหม่ เนื่องด้วยช่างฝีมือดีสมัยกรุงศรีอยุธยาถูกพม่ากวาดต้อนไปหมด ที่เหลือก็น้อยเต็มที ทรงพระราชดำริให้ฟื้นฟูงานช่างประเภทต่างๆ เช่น งานช่างประดับมุก งานช่างเขียนลวดลายปิดทองรดน้ำ งานช่างเงินช่างทอง งานช่างไม้ งานแกะสลัก เป็นต้น โดยทรงสนับสนุนให้ช่างที่มีฝีมือเหล่านี้ได้มีโอกาสได้ทำงานช่างฝีมือต่างๆเพื่อเป็นการฝึกฝีมือ เช่น ทรงโปรดให้ช่างเงินช่างทองทำเครื่องราชูปโภคตลอดจนเครื่องยศต่างๆที่พระราชทานให้แก่ผู้อื่น ถ้าเป็นเรื่องช่างก่อสร้าง ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างวัด พระราชวัง เป็นต้น การช่างประณีตศิลป์เหล่านี้ได้รับการฟื้นฟูขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนี้เอง

No comments: