Friday, June 29, 2007

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.3


พระราชประวัติสังเขป(ร.3)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับเจ้าจอมมารดาเรียม ต่อมาได้รับการเฉลิมพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสุราลัย สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๓๐ ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ขณะเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระราชมารดายังดำรงพระฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเรียม ดำรงพระอิสริยฐานันดรศักดิ์ของพระองค์จึงเป็น "หม่อมเจ้าทับ" พุทธศักราช ๒๓๔๔ สมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกเป็น สมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์จึงได้เลื่อนพระอิสริยฐานันดรศักดิ์เป็น "พระองค์เจ้าทับ" เมื่อพระชนมพรรษาครบปีที่จะทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช โปรดให้ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จไปประทับจำพรรษา ณ วัดราชสิทธาราม บางกอกใหญ่ พุทธศักราช ๒๓๕๖ พระชนมพรรษา ๒๖ พรรษา ได้รับการสถาปนาขึ้นทรงกรม พระนามพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงไว้วางพระราชหฤทัย โปรดให้กำกับราชการหลายกรม ได้แก่ กรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกา ซึ่งในสมัยนั้นเป็นราชการที่สำคัญมาก นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณด้วย พระองค์ทรงรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาท ด้วยความจงรักภักดี มีความรักชาติบ้านเมืองสูง และทรงพระเมตตาต่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอย่างยิ่ง ในยามที่แผ่นดินขาดแคลน ทรงนำเงินส่วนพระองค์ที่ได้จากการค้าสำเภากับนานาประเทศขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เป็นมูลเหตุให้ทรงได้รับการตรัสล้อ เรียกว่า "เจ้าสัว" น้ำพระราชหฤทัยฝักใฝ่การบุญ ทรงตั้งโรงทานเลี้ยงดูเกื้อกูลประชาชนที่ขัดสน บริเวณหน้าวังท่าพระ อันเป็นที่ประทับขณะนั้น พุทธศักราช ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตโดยมิได้ตรัสมอบการสืบราชสันตติวงศ์ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้ประชุมปรึกษา และมีสมานฉันท์ให้เชิญพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นครองสิริราชสมบัติ พระนามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันพุธที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗ ตลอดรัชสมัยได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่ชาติอเนกอนันต์ทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงของประเทศ เศรษฐกิจการค้า การต่างประเทศ การพระศาสนา วรรณกรรมและศิลปกรรม สิ่งสำคัญที่แสดงถึงความรักประชาชนคือ โปรดให้ปราบฝิ่นที่มีแพร่หลายในรัชกาลอย่างเด็ดขาด ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา ๒๗ ปี เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันตก เมื่อวันพุธที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๔ สิริรวมพระชนมพรรษา ๖๓ พรรษา ๒ วัน ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดารวม ๕๑ พระองค์ สายราชตระกูลที่สืบทอดมา ได้แก่ ศิริวงศ์ โกเมน คเนจร งอนรถ ลดาวัลย์ ชุมสาย ปิยากร อุไรพงศ์ อรรณพ ลำยอง สุบรรณ สิงหรา ชมพูนุท ในเรื่องการพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสบริสุทธิ์สูงยิ่ง ได้สถาปนาวัด บูรณปฏิสังขรณ์วัดที่ชำรุดทรุดโทรม สร้างพระพุทธปฏิมากร ประดิษฐ์วิชาการในพระอาราม สร้างพระคัมภีร์ และที่สำคัญคือ ทำนุบำรุงกุลบุตรให้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนา ผู้ที่บรรพชาอุปสมบท ทรงส่งเสริมให้ศึกษาเล่าเรียน มีพระราชดำรัสยกย่องพระภิกษุที่ศึกษาพระปริยัติธรรมในพระพุทธศาสนา สะท้อนน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นบำรุงให้รุ่งเรืองไว้ในแผ่นดินดังนี้ “เจ้าประคุณพระราชาคณะทั้งปวง จะไม่ร้อนรนพระทัย แสวงหาพระสงฆ์สามเณรที่รู้พระไตรปิฎกนั้นไม่ชอบ ด้วยพระพุทธศาสนาเป็นแก้วอันหาได้ยากในโลก พระสงฆ์ที่รู้พระไตรปิฎก ก็เป็นแก้วอันหาได้ยากในโลกเหมือนกัน ให้เจ้าประคุณพระราชาคณะทั้งปวงคิดถึงพระพุทธศาสนาให้จงหนัก เป็นพระพุทธศาสนาให้จงมาก” พระราชดำรัสก่อนเสด็จสวรรคต แม้ปัจจุบันพุทธศักราช ๒๕๔๗ กาลเวลาจะล่วงแล้วถึง ๑๕๓ ปี พระราชดำรัสนั้นทำให้คนไทยซาบซึ้งในคำเตือนที่คงความถูกต้อง ด้วยชาวไทยในยุคปัจจุบันได้รับพิษภัยจากฝรั่ง โดยเฉพาะเป็นยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ชาวไทยระทมทุกข์จำนวนมากประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ การถูกรุกรานทางวัฒนธรรมที่ทำให้ชาวไทยสูญเสียเอกลักษณ์ของชาติไปหลายประการ ที่ว่า "การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดไว้ ควรจะเรียนเอาไว้ ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”.
พระราชกรณียกิจที่สำคัญโดยสังเขป (ร.3)
ในด้านการเศรษฐกิจ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงได้จัดส่งสำเภาไปค้าขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศจีน ทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการค้าขายกับต่างประเทศสูงมาก เงินตราในท้องพระคลังที่พระองค์ทรงค้าขายได้ซึ่งเรียกขานว่า เงินถุงแดง ได้นำมาใช้เป็นค่าปฎิกรรมสงครมในปี รศ.112 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกยึดครองแผ่นดินจากชาติยุโรป และด้วยเหตุนี้เอง พระองค์จึงถูกขนานพระนามว่า "เจ้าสัว" นอกจากนี้พระองค์ยังทรงริเริ่มระบบการเก็บภาษีแบบเจ้าภาษีนายอากรคือมีตัวแทนเก็บภาษีทำให้สามารถเก็บภาษีเข้าสู่ท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก ในด้านการปกครอง ใน พ.ศ.2362 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กับเจ้าพระยาพระคลัง เป็นแม่กองสร้างเมืองสมุทรปราการให้มีป้อมปราการต่างๆ เพื่อป้องกันภัยทางทะเลทางฝั่งตะวันออก 4 ป้อม คือ ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ และป้อมกายสิทธิ์ และส่วนเกาะหน้าเมืองด้านตะวันตกอีก 2 ป้อม คือ ป้อมผีเสื้อสมุทร และป้อมนาคราช และในรัชกาลของพระองค์บ้านเมืองยังคงต้องประสบปัญหากับการรุกรานจากญวนอยู่ รวมทั้งกับการล่าอาณานิคมของชาติยุโรปอีกด้วย ในด้านการศาสนาและการศึกษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระอารามขึ้นใหม่ 19 วัด ทรงปฏิสังขรณ์วัดเก่า 17 วัด ทรงบูรณะพระอารามร่วมกับเจ้านาย และข้าราชบริพานอีก 33 วัด และอื่นๆ อีกมากมายส่วนการศึกษาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้เด็กตามโรงทานมีโอกาสศึกษา โปรดให้จารึกตำรา และวิทยาการต่างๆ ลงบนแผ่นหินประดับในวัดสำคัญหลายวัดเช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามได้ขื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ในรัชสมัยนี้มีตำราเรียนเกิดขึ้น 3 เล่ม คือ โคลงจิดามณี ประถม ก กา และปฐมมาลา อีกทั้งยังมีการพิมพ์หนังสือด้วยแท่นพิมพ์เป็นครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย พระราชสดุดี จากการที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ยพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ อันแสดงถึงพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาที่ทรงเห็นการณ์ไกลยังความมั่นคง เจริญรุ่งเรือง ให้แก่ประเทศไทยอย่างยากที่จะพรรณาได้ ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ทรงกำกับงานราชการอย่างใกล้ชิด มีการตรากฎหมายที่สำคัญเช่น พระราชกำหนดโจรห้าเส้นสำหรับใช้ในการปราบโจรผู้ร้าย ทรงโปรดตั้งกลองวินิจฉัยนารีไว้ให้ราษฎร์ร้องทุกข์ ประกาศเลิกสูบฝิ่น เป็นต้น ดังนั้นคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2540 แล้ว ลงมติเห็นชอบในหลักการให้ถวายพระราชสมัญญามหาราชแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเหตุที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระมหาเจษฎาบดินทร์" ซึ่งมีความหมายว่า พระมหาราชเจ้าผู้มีพระทัยตั้งมั่นในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ และคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2540

No comments: